ขึ้นชื่อว่าอัญมณีแล้วเป็นใครก็ต้องตาลุกวาว วันนี้ทัวร์พม่าจะพาคุณไปเที่ยว 3 สถานที่ ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับการค้นพบอัญมณีล้ำค่าในประเทศพม่า ไม่ว่าจะเป็นหยก ทับทิมและพลอยหลากสี ว่าแล้วทริปนี้ทัวร์พม่า เลยขอแนะนำให้ลูกทัวร์พกเงินติดกระเป๋าไว้เยอะสักหน่อย เพราะเชื่อว่าหลายท่านคงอดใจซื้ออัญมณีกลับบ้านไม่ได้แน่นอน
รัฐคะฉิ่น ดินแดนแห่งหยก
ณ รัฐคะฉิ่น ดินแดนเหนือสุดของประเทศพม่ารอยต่อชายแดนจีนและอินเดีย ใต้ผืนดินแห่งนี้มี “หินสีเขียว” (Jade) หรือคนไทยเรียกว่า “หยก” คุณภาพดีที่สุดในโลกฝังตัวอยู่มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล สีเขียวของหยกจากดินแดนแห่งนี้ไล่เรียงเฉดตั้งแต่เขียวอ่อนไปจนถึงเขียวเข้ม เนื้อหยกละเอียดสะท้อนกับแสงจันทร์ยามค่ำคืน บรรดานักค้นหาหยกในอดีตจะลงมืดขุดหาหยกในคืนที่แสงจันทร์ส่องไปทั่วฟ้าเพื่อให้หยกสะท้อนกับแสงจันทร์ ชาวคะฉิ่น ผู้อาศัยอยู่บนแผ่นดินผืนนี้มานานหลายชั่วอายุคนมองเห็นหินสีเขียว เหล่านี้จนชินตา แต่สำหรับคนภายนอกโดยเฉพาะชาวจีน ชนชาติที่มีความเชื่อเกี่ยวกับหยกมากที่สุดกลับรู้สึกตื่นตาตื่นใจเมื่อได้ค้นพบแหล่งหยกล้ำค่าในรัฐคะฉิ่น และยอมเสี่ยงตายเพื่อเข้าไปตามหาก้อนหินสีเขียวเหล่านี้ชาวจีนเริ่มล่วงรู้ว่ารัฐคะฉิ่นมีขุมทรัพย์หยกล้ำค่าซ่อนอยู่เป็นครั้งแรกประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 13 เมื่อพ่อค้าชาวจีนซึ่งเดินทางเข้าไปค้าขายในพื้นที่ชาวคะฉิ่นบังเอิญหยิบก้อนหินสีเขียวก้อนหนึ่งจากป่าข้างทางขึ้นมาใช้ห้อยถ่วงน้ำหนักบนหลังของล่อเพื่อทดแทนน้ำหนักของสินค้าที่ขายไปแล้วในช่วงขากลับ เมื่อกลับถึงบ้านเขาจึงพบว่า หินก้อนนั้นคือหยกคุณภาพดีที่เขาไม่เคยพบเห็น มาก่อน หลังจากข่าวนี้เลื่องลือออกไป บรรดาพ่อค้าชาวจีนและนักแสวงโชคทั้งหลายจึงพากันเดินทางเข้าไปในรัฐคะฉิ่นเพื่อตามหาแหล่งกำเนิดหยกล้ำค่า แต่พวกเขาก็ไม่สามารถค้นหาคำตอบที่ต้องการได้ เพราะชาวคะฉิ่นเจ้าของพื้นที่ไม่มีใครยอมบอกความลับเหล่านี้เป็นเวลานาน จนกระทั่งชนชาติพม่าได้ขยายอาณาจักรเข้าไปในรัฐคะฉิ่น
ปัจจุบัน เมืองมูกองจัดเป็นศูนย์กลางการซื้อขายหยกที่สำคัญ โดยหยกจากเหมืองต่างๆ จะถูกนำมาขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่ตลาดแห่งนี้ หลังจากนั้นจึงถูกส่งไปขายยังประเทศจีนและประเทศอื่นๆ เพราะชาวจีนรุ่นหลังเลือกรอซื้อหยกที่พ่อค้านำออกมาจากรัฐคะฉิ่นมากกว่าการเสี่ยงชีวิตเข้าไปเอาหยกออกมาจากเหมืองด้วยตนเอง
โมก๊อกและเมืองสู้ แหล่งพลอยหลากสี
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อหลายร้อยปีก่อนสมัยที่อาณาจักรไทยใหญ่ยังปกครองด้วยระบบเจ้าฟ้า นักล่าสัตว์ชาวไทยใหญ่สามคนได้ค้นพบแหล่งทับทิม (Ruby) หรือ “หินสีแดง” ที่สวยที่สุดในโลกด้วยความบังเอิญ หลังจากที่พวกเขาหลงทางในป่าและสร้างที่พักใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เขามองเหลือบไปเห็นก้อนหินสีแดงสวยสดมากมายปะปนอยู่ในดินที่ไหลลงมาจากภูเขาใกล้ๆ พวกเขาจึงนำหินสีแดงที่พบกลับไปมอบให้เจ้าฟ้าเมืองมีด ซึ่งเป็นผู้ปกครองสูงสุดในดินแดนแถบนั้น หลังจากนั้นเจ้าฟ้าจึงสั่งให้สร้างหมู่บ้านขึ้นบริเวณนั้นและเริ่มใช้แรงงานคนขุดเอาหินสีแดงขึ้นมาใช้เป็นเครื่องประดับและเครื่องบรรณาการ บริเวณที่ค้นพบหินสีแดงเหล่านี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยใหญ่ว่า “เมืองกึ้ด”ตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งหมายถึง สายน้ำที่ไหลผ่านภูเขาด้านหนึ่งและโผล่ออกอีกด้านหนึ่ง
เรื่องร่ำลือเกี่ยวกับความงามของทับทิมจากโมก๊อกที่เล่ากันต่อมาอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ทับทิมเม็ดงามขนาด 80 กะรัตซึ่งถูกค้นพบในช่วงคริสต์วรรษที่ 17 โดยชาวบ้านชื่องาม็อก(Nga Mauk) เขาได้ถวายทับทิมเม็ดนี้ให้กับกษัตริย์พม่าในเวลานั้น ทับทิมเม็ดนี้จึงถูกเรียกว่า“ทับทิมงาม็อก” ตามชื่อของเขา และได้รับคำร่ำลือว่าเป็นทับทิมที่มีความงดงามมากที่สุดของราชวงศ์พม่าเลยทีเดียว ทับทิมงาม็อกเป็นมรดกสืบทอดต่อกันมาจนถึงสมัยพระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้าย โดยพระเจ้าธีบอได้ฝากทับทิมเม็ดนี้ ไว้กับนายทหารชาวอังกฤษชื่อว่าพันเอกสลาเดนก่อนลี้ภัยออกนอกประเทศ หลังจากนั้นพระเจ้าธีบอพยายามติดต่อทวงคืน แต่ทางกองทัพอังกฤษแจ้งว่าพันเอกสลาเดนเสียชีวิตไปแล้วในปี พ.ศ. 2453 และไม่มีบันทึกว่าเขาได้มอบทับทิมที่ล้ำค่าชิ้นนี้ให้ใครเก็บรักษาไว้ เรื่องราวของทับทิมเม็ดงามจึงกลายเป็นเพียง เรื่องเล่าสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้
ชะตากรรมของเหมืองโมก๊อกเริ่มเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในยุคนายพลเนวิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 – 2531 เหมืองทั้งหมดถูกยึดเป็นของรัฐบาลกลาง ไม่มีบริษัทเอกชนใดสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ในยุคต่อมาหลังจากสลอร์ค (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นเอสพีดีซี) ยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2531 รัฐบาลทหารได้เปิดตลาดการค้าเสรีให้เอกชนและต่างชาติมาลงทุนเข้ามาสัมปทานเหมืองแห่งนี้ เพื่อนำรายได้เข้ามาบำรุงกองทัพ โมก๊อกจึงกลายเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยนักแสวงโชคจากต่างถิ่นและหินสีมากมายก็ถูกขุดขึ้นมาขายสร้างความร่ำรวยให้กับผู้คนจำนวนมาก
แหล่งกำเนิดพลอยหลากสีที่เพิ่งถูกค้นพบไม่นานมานี้อีกหนึ่งแห่ง คือ เมืองสู้ ตั้งอยู่ในเขตรัฐฉานไปทางตะวันออกประมาณ 150 ไมล์และเฉียงไปทางใต้ของเหมืองโมก๊อกเล็กน้อย เหมืองแห่งนี้เพิ่งถูกค้นพบและเปิดให้สัมปทานเมื่อปี พ.ศ. 2534 เล่ากันว่า ก่อนหน้าที่เหมืองแห่งนี้จะถูกค้นพบ ชาวปะหล่อง กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้สังเกตเห็นว่า ดินบริเวณที่พวกเขาทำไร่มีหินหลากสีสวยงามปะปนอยู่ เขาจึงเก็บรวบรวมใส่กระสอบและนำมาขอแลกข้าวสารกับพ่อค้าในตลาด หลังจากพ่อค้านำหินสีเหล่านั้นไปตรวจสอบจึงพบว่าเป็นพลอยมีค่า เมื่อเรื่อง ล่วงรู้ไปถึงรัฐบาลทหาร รัฐบาลจึงสั่งโยกย้ายหมู่บ้านชาวปะปล่องลงมา จากพื้นที่ดังกล่าว และเปิดให้สัมปทานกับบริษัทต่างๆ แทน ปัจจุบัน ชาวปะปล่องจำนวนมากได้กลายเป็นแรงงานรับจ้างตามเหมืองเหล่านี้แทนการได้ครอบครองทรัพย์สมบัติล้ำค่าที่ตนเป็นผู้ค้นพบ